top of page
ชะลอความชรา
กล้ามเนื้อ(ลาย)เป็นหนึ่งในอวัยวะของมนุษย์ ที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ในระดับเซลล์ เหมือนหางจิ้งจกที่เมื่อขาดแล้ว งอกใหม่ได้ (Regeneration) ทั้งยังผลัดเปลี่ยนให้ใหม่ได้อยู่เสมอคล้ายงูที่ลอกคราบ (Self-renew) ทั้งนี้ก็เพราะกล้ามเนื้อมีเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) อยู่ตลอดช่วงเวลาชีวิตมนุษย์
เซลล์ต้นกำเนิดของกล้ามเนื้อเป็นที่สนใจ และมีการศึกษา ค้นคว้า มากมาย จนมีชื่อเฉพาะเรียกว่า Satellite Cells หรือ Resident Muscle Stem Cells (MuSCs)
ความชราและการบาดเจ็บที่ได้รับการดูแลอย่างไม่เหมาะสม สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของ MuSCs ส่งผลให้เนื้อเยื่อพังผืดและหรือไขมันแทรกเข้ามาแทนที่ ทำให้กล้ามเนื้อ(ลาย) ในส่วนนั้นไม่สามารถทำงานได้ดังเดิม เกิดความเสียหายขึ้นตลอดไป
การฝึกกล้ามเนื้อ(ลาย) อย่างเหมาะสม สามารถชะลอความชราได้โดยผ่านกลไก
-
เพิ่มสมรรถนะทางกาย Increased Physical Capacity) (
-
เสริมสร้างกระบวนการใช้และเก็บพลังงาน (Enhanced Metabolic Function)
-
ลดความเสี่ยงต่อการหกล้มหรือบาดเจ็บ (Reduced Risk of Falls or Injuries )
-
ป้องกันโรค (Disease Prevention)
-
ส่งเสริมสุขภาพจิต (Improved Psychological Health)


ภาพประกอบจาก www.pngkey.com
1. Physical Capacity หมายถึง สมรรถนะของร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่มีเป็นประจำทุกวัน หรืออาจเป็นกิจกรรมเฉพาะในโอกาสพิเศษ เช่น เล่นกีฬา การตอบสนองต่อเรื่องที่ไม่ได้คาดถึงหรือเตรียมตัวมาก่อน
กล้ามเนื้อ(ลาย) มีน้ำหนักรวมถึง 40% ของน้ำหนักร่างกาย ประกอบขึ้นเป็นกล้ามเนื้ออยู่ทั่วร่างกายมากกว่า 660 มัด มีสมรรถนะหลักในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งในเชิงความแข็งแรงในการเอาชนะแรงต้าน (ที่อาจสูงมาก) และความทนทานในการที่ต้องทานต่อแรงต้าน (ที่อาจนานมาก) การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งหากไม่ได้รับการฝึกกล้ามเนื้อที่เหมาะสม มวลกล้ามเนื้อจะหายไป
5 ปอนด์ (2.3 กก.) ในทุก 10 ปีที่อายุมากขึ้น
มนุษย์เราสามารถสร้างเสริมกล้ามเนื้อ และเพิ่มความแข็งแรง + ทนทานให้กล้ามเนื้อของตนได้ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร ด้วยคุณสมบัติพิเศษของกล้ามเนื้อดังได้กล่าวแล้ว
2. Enhance Metabolic Function
อัตราการใช้พลังงานของมนุษย์เราจะลดลงเมื่อแก่ตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความชรามีผลให้ร่างกายเราสะสม
ไขมันเพิ่มขึ้น หากผู้สูงอายุไม่ได้รับการฝึกกล้ามเนื้อที่เหมาะสม จะส่งผลให้อัตราการใช้พลังงานลดลง 3-8% ในทุกสิบปีที่ผ่านไป อันเป็นผลจากการลดลงของมวลกล้ามเนื้อดังได้กล่าวแล้ว
ปรากฏการณ์นี้หมายถึง ร่างกายผู้สูงอายุใช้พลังงานน้อยลง ในขณะที่ยังบริโภคสารอาหารให้พลังงานเท่าเดิม ทำให้พลังงานที่เคยถูกใช้โดยกล้ามเนื้อที่หายไป ไม่มีการใช้ไปอย่างเคย แต่พลังงานที่เกินมานี้จะถูกสะสมในรูปของไขมัน ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ไม่ผ่านการฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม แต่ยังมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารเหมือนเดิม ก็จะมีสัดส่วนของไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้นทุกที
คนทั่วไปมักจะมองว่าปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากผู้สูงอายุได้รับการฝึกกล้ามเนื้อที่เหมาะสมก็จะ สามารถคงมวลกล้ามเนื้อเอาไว้ได้ ทำให้อัตราการใช้พลังงานขณะพักไม่ลดลง ปรากฏการณ์ที่สัดส่วนไขมันเพิ่มขึ้นดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น
สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยจะได้ออกกำลังกาย ถ้าได้รับการฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมเพียง 3 วัน จะสามารถเพิ่มอัตราการใช้พลังงานขณะพักได้เฉลี่ยแล้วสูงขึ้น 9% จากอัตราฯ เดิม และแม้แต่ผู้สูงอายุที่ active มีอัตราการออกกำลังกายอยู่แล้วหากได้รับการฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม ก็ยังสามารถเพิ่มอัตราการใช้พลังงานขณะพักไปได้อีกถึง 8% ใน 3 วันเช่นกัน ดังนี้แล้ว หากบุคคลทั่วไปที่โดยเฉลี่ยแล้วจะมีอัตราการใช้พลังงานขณะพัก ประมาณ 1,500 แคลอรี่ต่อวัน ถ้าสามารถเพิ่มอัตราการใช้พลังงานขณะพักเพียง 8% เท่ากับว่าจะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 120 แคลอรี่ต่อวัน หรือ 120 x 30 = 3,600 แคลอรี่ใน 1 เดือน ซึ่งเท่ากับว่าจะเผาผลาญไขมันได้ประมาณ 1 ปอนด์ (0.5 กิโลกรัม) ต่อเดือน หรือ 12 ปอนด์ (5.5 กก.ต่อปี)
มีการรายงานผู้ป่วยโรคอ้วนรายหนึ่ง ที่สามารถประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักลงมาได้ถึง 100 ปอนด์ (45 กก.) แล้วแต่ไม่สามารถจะลดน้ำหนักลงมาได้อีกไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ตาม (ศัพท์ในทางเทคนิค เรียกว่า "hit weight-loss plateau") ต่อมาเมื่อได้ออกแบบเพิ่มโปรแกรมการออกกำลังกายด้วยการฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยรายนี้ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับร่างกายของเขา โดยที่เขาสามารถลดน้ำหนักลงต่อไปได้อีก พร้อมกับได้เห็นมวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น ข้อเข่าหายปวด การเดินที่ดีขึ้น ที่สุดแล้วผู้ป่วยรายนี้ให้ความสนใจกับการฝึกกล้ามเนื้อต่อเนื่องตลอดมา และคอยมองหาวิธีการที่จะทำให้ร่างกายเขาดีขึ้นกว่านี้อีก
3. Reduce Risk of Falls or Injuries
การออกแบบการฝึกกล้ามเนื้อที่เหมาะสม สามารถป้องกันการหกล้มได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การออกแบบการฝึกกล้ามเนื้อในทุกโปรแกรมการฝึกจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เสมอ การทรงตัวให้ได้สมดุลไม่หกล้มได้ง่ายๆนั้น อาศัยทั้งความแข็งแรง (strength) และความเร็วในการตอบสนอง (power) ของกล้ามเนื้อ เพราะบ่อยครั้งที่การหกล้มเกิดจากสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงและเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที
การฝึกกล้ามเนื้อ จึงควรออกแบบให้ครอบคลุมกลุ่มกล้ามเนื้อหลัก โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานตรงข้ามกัน เช่น กลุ่มกล้ามเนื้อ Quadricepts กับ Hamsrtrings ที่ใช้ในการงอและเหยียดเข่า หรือ เช่นกลุ่มกล้ามเนื้อ Erector-spinae และกลุ่มกล้ามเนื้อหน้าท้อง ที่ช่วยในการงอและเหยียดลำตัว นอกจากการฝึกกล้ามเนื้อจะสามารถลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บแล้ว ยังช่วยเยียวยาในผู้ที่บาดเจ็บแล้วได้อีกด้วย



4. Disease Prevention
นอกจากการฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมจะสามารถป้องกันภาวะหรือโรคเรื้อรังได้หลายอย่างแล้ว แม้ในคนที่ป่วย การฝึกอย่างถูกวิธีและการปรับการฝึกให้เข้ากับสภาพโรคและสถานะสุขภาพของผู้ป่วย ยังเป็นการจัดการโรคที่ได้ผลดีกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว ภาวะหรือโรคเรื้อรังที่การฝึกกล้ามเนื้อให้ผลดีอย่างมาก คือ
-
ภาวะกระดูกโปร่งบาง หรือ Osteoporosis ; การฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ สามารถเพิ่ม "bone mineral density" ได้ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อ Osteoporosis มีรายงานการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมในผู้หญิงก่องและหลังหมดประจำเดือน สามารถเพิ่ม "bone mineral density" ได้ 1-3% ต่อปี
-
ภาวะโรคหลอดเลือดและหัวใจ ; การฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม ทำให้สัดส่วนกล้ามเนื้อต่อไขมัน (Body Composition) ดีขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจ ยิ่งไปกว่านั้น การฝึกกล้ามเนื้อที่เหมาะสมยังสามารถลดความดันเลือดขณะพัก, ทำให้สารไขมันต่างๆในเลือดดีขึ้น, เสริมการทำงานของหลอดเลือดให้ดีขึ้น และยังลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่เกี่ยวกับภาวะการใช้พลังงาน (Metabolic Syndrome)
-
เบาหวานประเภท 2 ; เช่นเดียวกันกับโรคหลอดเลือดและหัวใจ, สัดส่วนของร่างกายที่กล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นและไขมันลดลง มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 รายงานการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าการฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม สามารถช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อ Insulin ดีขึ้น และช่วยในการนำกลูโคสมาใช้เป็นพลังงาน
-
ข้ออักเสบ ; การฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม สามารถลดอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับทั้งโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) และข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
5. Improved Psychological Health ; การส่งเสริมสุขภาพจิต
การฝึกกล้ามเนื้อที่เหมาะสม ทำให้การประกอบกิจวัตรประจำวันหรือแม้กระทั่งกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติเป็นครั้งคราวดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีอย่างมากต่อความเชื่อมั่นในตัวเอง ในที่สุดผู้ฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมมักจะกลายเป็นแฟนตัวยงในการฝึกกล้ามเนื้อ และคอยผลักดันให้ตัวเองยอมรับและปรับเอาวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ๆมาใช้ อย่างเช่น พฤติกรรมการบริโภคอาหาร หรือตลอดจนวิถีชีวิตโดยรวม
-
การรับรู้ความสามารถของตน (self-efficacy) : การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีความสัมพันธ์ต่อกัน เช่น เมื่อผู้ฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม ทำการฝึกจนเขาสามารถทำสิ่งที่ฝึกได้ดีขึ้นเรื่อยๆ และประสบความสำเร็จในการฝึก จะทำให้เขารับรู้ความสามารถของตนเพิ่มขึ้น และเมื่อฝึกต่อไปได้มากขึ้น (Progressive Training) เขาก็จะยิ่งรับรู้ความสามารถของตนเพิ่มขึ้นไปอีก
-
การเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) การฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมส่งผลดีต่อความภูมิใจในตัวเอง หรือการเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในหนุ่มสาวหรือในผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ป่วยมะเร็ง การฟื้นฟูสมรรถภาพในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ตลอดจนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Depression) การช่วยเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเองนั้น ไม่ใช่เป็นความสำเร็จเพียงเล็กน้อย เพราะผู้ที่เห็นคุณค่าในตนเองสูงมักเป็นผู้ที่มีคุณภาพชีวิตทั้งทางร่างกาย จิตใจสูงไปด้วย
-
ลดความชุกของภาวะซึมเศร้า (Decreased Prevalence of Depression) การฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมยังเกี่ยวข้องกับการลดความชุกของภาวะซึมเศร้า ทั้งในผู้สูงอายุชายและหญิง โดยไม่ขึ้นกับสถานะทางสุขภาพเดิมของเขาเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นการฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมเพียงอย่างเดียว มีความสัมพันธ์กับการลดลงของอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างมาก
-
ทำให้ "Global Cognitive Function" หรือกระบวนการทำงานของสมอง ด้านความคิด ความเข้าใจ การรับรู้ข้อมูล การจดจำ การแก้ไขปัญหา การตัดสินใจ การปรับตัว และการวางแผนโดยทั่วไปดีขึ้น การฝึกกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมเพียงอย่างเดียว มีความสัมพันธ์ต่อการเพิ่ม "cognition" ในผู้สูงอายุ โดยมีผลอย่างมากที่สุดต่อเรื่องกระบวนการทางความจำ
bottom of page